Archive for March, 2010
โซเดียมเปอร์ซัลเฟต
สารเคมีรั่ว แหลมฉบังเป็นสารเคมีที่มีชื่อเรียกว่าโซเดียมเปอร์ซัลเฟต Sodium persulfate หรือ Sodium peroxydisulphate (Na2S2O8) ซึ่งเป็นสารประกอบเคมี ที่มีสมบัติเป็นสารออกซิไดส์ที่แรง นั่นหมายถึงความสามารถทำปฏิกิริยากับสารที่เป็นตัวรีดิวซ์ได้ง่าย อาจเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงได้
ความเป็นอันตรายของโซเดียมเปอร์ซัลเฟตต่อบุคคล จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ โดยมากแล้วสารชนิดนี้จะไม่ดูดความชื้นสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ง่ายต่อการจัดเก็บและนำมาใช้งาน ตัวมันเองไม่สามารถติดไฟได้ แต่เป็นแหล่งกำเนิดออกซิเจนที่ดีจึงช่วยเสริมให้ไฟที่ลุกไหม้อยู่แล้ว ลุกไหม้ได้ดียิ่งขึ้น
การนำไปประโยชน์ ใช้เป็นสารฟอกขาว ฟอกเส้นผม หรือใช้เป็นสารฟอกขาวโดยการผสมในผงซักฟอก ใช้อุตสาหกรรมการพิมพ์ บอร์ดวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นสารเคมีในกระบวนการปรับคุณสมบัติของแป้ง
ข้อควรระวังในการนำไปใช้งาน และการจัดเก็บ หลีกเลี่ยงการใช้งานและการจัดเก็บโซเดียมเปอร์ซัลเฟตใกล้กับบริเวณที่มี ความชื้น ความร้อน เปลวไฟ แหล่งกำเนิดประกายไฟ สารรีดิวซ์ สารอินทรีย์ โซเดียมเปอร์ออกไซด์ อะลูมิเนียม และโลหะผง
Popularity: 10% [?]
สารละลายทำความสะอาดเครื่องแก้ว
สารละลายที่ใช้ในการทำความสะอาดเครื่องแก้ว (cleaning glassware solution)
เมื่อไม่สามารถทำความสะอาดเครื่องแก้ว ด้วยวิธีการทั่วๆ ไปแล้วจำเป็นต้องใช้สารละลายที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในเครื่องแก้ว โดยอยู่ในมุมที่ทำความสะอาดได้ยาก เช่น การทำความสะอาดปิเปตต์ จะทำได้ยากเนื่องจากไม่สามารถนำแปรงล้างเครื่องแก้ว เข้าไปภายในปิเปตต์ได้ จึงต้องอาศัยการแช่ด้วยสารละลายที่ใช้ทำความสะอาดเครื่องแก้ว เป็นต้น ในการเตรียมสารละลายที่ใช้ทำความสะอาดเครื่องแก้วนี้ จำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยให้ครบ เช่น ถุงมือ แว่นตา และระบบระบายอากาศ เพราะใช้สารเคมีที่อันตรายมากพอสมควร
1. สารละลายไดโครเมต-กรดซัลฟิวริก เตรียมได้โดยการผสมโซเดียมไดโครเมต (Na2Cr2O7.2H2O) 92 กรัม ละลายด้วยน้ำกลั่น 458 มิลลิลิตร จากนั้นค่อยๆ เติมกรดซัลฟิวริกเข้มข้น (H2SO4 conc.) ปริมาณ 800 มิลลิลิตร คนด้วยแท่งแก้วคนจนกระทั่งสารละลายเข้ากันดี จะได้สารละลายสีแดง ระหว่างการเทกรดซัลฟิวริกเข้มข้นลงไป สารละลายจะมีความร้อนเกิดขึ้นในปริมาณมาก จะต้องคนด้วยแท่งแก้วคนสลับกับการเทกรดลงไป หลังจากเตรียมเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนใช้งาน
2. สารละลายกรดไนตริกเจือจาง ที่มีความเข้มข้นประมาณ 10 % ใช้ทำความสะอาดเครื่องแก้วต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นฝ้า โดยการแช่ด้วยกรดไนตริกเจือจาง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
3. สารละลายกรดกัดทอง กรดกัดทองทำได้โดยการผสมกรดเกลือ (HCl) และกรดไนตริกเข้มข้น (HNO3) ในอัตราส่วน 3:1 โดยปริมาตร
4. สารละลายโพแทสเซียมหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ในอัลกอฮอล์ (KOH/NaOH in alcohol) เตรียมได้โดยละลาย NaOH 120 กรัม หรือ KOH 150 กรัม ในน้ำกลั่น 120 มิลลิตร จากนั้นเติมเอทานอล (C2H5OH) ความเข้มข้น 95% ลงไปเพื่อทำให้มีปริมาตรเป็น 1 ลิตร
5. สารละลายไตรโซเดียมฟอสเฟต (Na3PO4) เตรียมได้โดยละลาย Na3PO4 57 กรัมและโซเดียมโอลีเอต 28.5 กรัม ในน้ำกลั่น 470 มิลลิลิตร เหมาะสำหรับกำจัดสารพวกคาร์บอน
Popularity: 18% [?]