Archive for December, 2016
blue bottle experiment
การทดลองขวดสีน้ำเงิน (blue bottle experiment)
น้ำตาลกลูโคส ที่อยู่สารละลายที่เป็นด่าง จะมีคุณสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์ เมื่อเติมเมทิลลีนบลู (อินดิเคเตอร์สีฟ้า) ลงไปจะถูกรีดิวซ์ด้วยกลูโคส จะไม่มีสี หากทำการเขย่าสารละลายนี้จะมีความเข้มข้นของออกซิเจนเพิ่มขึ้น และเมทิลลีนบลู จะถูกออกซิไดซ์ กลับคืนเป็นสีฟ้าอีกครั้ง หลังจากเขย่าสารละลายนี้แล้ว หากทิ้งสารละลายไว้ก็จะกลับกลายเป็นสารละลายที่ไม่มีสีอีกครั้ง เนื่องจากเมทิลลีนบลูถูกรีดิวซ์ด้วยน้ำตาลกลูโคสในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน
การทดลองนี้มีความน่าสนในเป็นอย่างมาก เมื่อเขย่าสารละลายจะมีสีฟ้าเกิดขึ้น และเมื่อตั้งทิ้งไว้สักครู่สารละลายก็จะกลับกลายเป็นสารละลายที่ไม่มีสี เราสามารถทำกลับไป กลับมาได้หลายครั้ง และยังแสดงถึงสมดุลของปฏิกิริยารีดอกซ์อีกด้วย
อุปกรณ์ และสารเคมี
1. แว่นตากันสารเคมี
2. ขวดแก้วใส่สารเคมีขนาด 1 ลิตร (ขวดรูปชมพู่ หรือ ขวดแก้วอื่นๆ)
3. จุกยางสีดำสำหรับอุดปากขวดรูปชมพู่
4. โซดาไฟ (sodium hydroxide) 8 กรัม
5. น้ำตาลกูลโคส (glucose or dextrose) 10 กรัม
6. สารเมทิลลีนบลู (methylene blue) 0.05 กรัม
วิธีการทดลอง
1. สวมแว่นตากันสารเคมีให้เรียบร้อย
2. ละลายเมทิลลีนบลู 0.05 กรัม ในสารละลาย เอทานอล 0.1% (v/v) 50 มิลลิลิตร
3. ชั่งโซดาไฟ 8 กรัม และเทใส่ขวดรูปชมพู่ขนาด 1 ลิตร
4. เติมน้ำกลั่น 300 มิลลิลิตร และ กลูโคส 10 กรัม คนให้กลูโคสละลายจนหมด
5. เติมสารละลายเมทิลลีนบลูลงไป 5 มิลลิลิตร
6. คนให้สารละลายเป็นเนื้อเดียว และตั้งทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที สารละลายจะเปลี่ยนจากสีฟ้า เป็นสารละลายใส ไม่มีสี หลังจากนั้นให้ปิดด้วยจุกยาง
7. ติดฉลากขวดระบุว่าเป็นสารอันตรายห้ามรับประทาน
8. ทดสอบเขย่า สารละลายจะกลับมาเป็นสีฟ้าอีกครั้ง
หมายเหตุ : เมื่อทิ้งสารละลายไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง สารละลายจะกลายเป็นสีเหลือง ไม่กลับมาเป็นสีฟ้าอีก
links: https://www.youtube.com/watch?v=MWJ-peS388o
Popularity: 1% [?]