Archive for the ‘การเป่าแก้ว (glassblowing)’ Category
การทำหลอดหยด
ขั้นตอนการทำหลอดหยด
1. การยืดแก้ว
นำหลอดแก้วขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 มิิลลิเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ทำเครื่องหมายตรงกึ่งกลางด้วยดินสอเขียนแก้ว จากนั้นนำไปลนไฟพร้อมกับหมุนแก้วด้วยตลอดเวลา จนกระทั่งแก้วเริ่มอ่อนตัวโดยแก้วที่ถูกเปลวไฟจะหดตัวและมีความหนาแน่นมากกว่าแก้วที่ไม่ถูกไฟ เมื่อแก้วมีความหนาพอสมควรแล้วให้นำออกจากเปลวไฟ หมุนประคองแก้วไปเรื่อยๆ และค่อยๆ ดึงออกจากกัน แก้วจะยืดออกและมีขนาดเล็กลงจนได้ขนาดที่ต้องการ และหมุนประคองไว้จนกระทั่งแก้วแข็งตัวและตรง ทิ้งไว้ให้แก้วเย็นตัว โดยการวางบนวัสดุทนไฟ เ่ช่น แผ่นกระเบื้อง ห้ามวางไว้ไกล้วัสดุที่ติดไฟง่าย และห้ามจับแก้วส่วนที่ถูกความร้อน จากนั้นใช้ตะไบกรีดตรงกลางแก้วส่วนที่ยืดออกจากกัน และหักออกจากกันเบาๆ ก็จะได้หลอดหยดตามต้องการ
2. การขยายปลายหลอดแก้ว (flaring)
เพื่อให้หลอดหยดสามารถ สวมเข้ากับลูกยางได้ จึงต้องขยายปลายหลอดแก้ว ทำได้โดยเผาปลายหลอดแก้วที่ตัดแบ่งครึ่งจากการยืดเรียบร้อยแล้ว หมุนประคองเรื่อยๆ จนกระทั่งแก้วอ่อนตัวมากๆ แล้วจึงนำปลายหลอดแ้ก้วมากดลงบนแผ่นกระเบื้องโดยให้ตั้งฉากกับพื้น 90 องศา เพื่อให้ปลายบานออก ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงนำลูกยางมาสวมก็จะได้หลอดหยดสมบูรณ์แล้ว นำไปใช้งานได้
Popularity: 29% [?]
แก้วสี (colored glass)
แก้วสี (colored glass) หรือกระจกสี เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ 2500 ปีมาแล้ว ชาวอียิปต์ได้ประดิษฐ์แก้วทึบแสงขึ้นมา ส่วนในสมัยประวัติศาสตร์กลาง ก็มีการนำแก้วสีมาตกแต่งโบสถ์วิหารโดยใช้ทำกระจกที่มีสีสันต่างๆ เช่นแก้วสีชมพู (Crimson pink) ซึ่งมีความสวยงามมาก ผลิตจากช่างแก้วชาวเวนิช จากนั้นได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตามยุคสมัยต่างๆ
Read the rest of this entry »
Popularity: 24% [?]
การป้องกันอันตราย (safety first)
อันตรายจากอุปกรณ์เป่าแก้วและพื้นที่ทำงาน อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในการเป่าแก้ว เช่น เครื่องเจาะแก้ว เครื่องตัดแก้ว เครื่องขัดแก้ว เป็นต้น ล้วนก่อให้เกิดอันตรายได้เสมอหากไม่ระมัดระวังในการใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของเครื่องจักร หรือเศษแก้วที่แตกและกระเด็นขณะใช้งานเครื่องมือ การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจึงต้องระมัดระวัง ใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี ดูแลรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายให้ใช้ได้หรือพร้อมใช้ตลอดเวลา
ส่วนอันตรายอันอาจจะเกิดจากสถานที่ทำงาน เนื่องจากการระบายอากาศและก๊าซต่างๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซและเชื้อเพลิงขณะทำงาน ระบายไม่ดี เพียงพอ แสงสว่างที่มากหรือน้อยเกินไปก็ก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน หากมีสถานที่ที่เหมาะสมแล้วนอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ชิ้นงานที่ทำออกมีมีคุณภาพด้วย
ในการเป่าแก้ว อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ จำเป็นต้องเตรียมสิ่งต่างๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อใช้ป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นไว้ให้พร้อม เช่น ตู้ยาหรือตู้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First aid) ที่มียาหรือเวชภัณฑ์อย่างเพียงพอเหมาะสม นอกจากนั้นก็เป็นน้ำยาล้างตา เครื่องดับเพลิง ทรายหรือผ้าห่มดับไฟ วางไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน ง่ายต่อการนำมาใช้ และต้องมีคู่มือวิธีการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงเหล่านี้ด้วย และต้องไม่ลืมฝึกซ้อมเพื่อระงับเหตุฉุกเฉินเพื่อให้มีความพร้อมทั้งผู้ปฏิบัติงาน อุปกรณ์ฉุกเฉิน และขั้นตอนการระงับเหตุอย่างถูกวิธี
แว่นตาเป่าแก้ว (eyeglasses) ในการเป่าแก้วมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสวมแว่นตาที่มีความจำเพาะกับงานเป่าแก้ว โดยเลือกเลนส์ที่มีชื่อเรียกว่า Didymium ซึ่งเลนซ์นี้สามารถดูดกลืนแสงในช่วงสีเหลืองได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อแก้วได้รับความร้อนจากไฟที่เกิดจากก๊าซเชื้อเพลิงและก๊าซสันดาป จะเปล่งแสงสีเหลืองออกมา แสงสีเหลืองที่เปล่งออกมานี้เป็นแสงที่เกิดจากธาตุโซเดียมที่เป็นส่วนประกอบของแก้ว มีความสว่างจ้ามาก ทำให้ผู้เป่าแก้วมองชิ้นงานไม่ชัดเจนและแสบตา นอกจากนั้นยังประกอบด้วยแสงยูวี (UV light) ซึ่งเป็นแสงที่อันตรายมากต่อดวงตา สำหรับเสนส์ Didymium เป็นแก้วพิเศษที่ประกอบด้วย neodymium oxide และ praseodymium oxide
แว่นตาเป่าแก้วนี้ ยังช่วยป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดแก้ว การต่อแก้ว และการเป่าแก้ว อาจมีเศษแก้ว หรือสะเก็ดแก้ว กระเด็นเข้าตาได้ แว่นตาเป่าแก้วจึงจัดเป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายได้อย่างดี ต้องสวมตลอดเวลาเมื่อทำการเป่าแก้ว
Popularity: 22% [?]
ก๊าซเชื้อเพลิงเป่าแก้ว (Fuel gases)
ก๊าซเชื้อเพลิง (Fuel gases) เป็นก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเป่าแก้ว ประกอบด้วยก๊าซชนิดต่างๆ ดังนี้
ก๊าซถ่านหิน (coal gas) เป็นก๊าซที่ได้จากการเผาถ่านหินให้มีความร้อนประมาณ 1000 องศาเซลเซียส ในพื้นที่ที่จำกัดอากาศ ส่วนประกอบของก๊าซถ่านหินขึ้นอยู่กับแหล่งของถ่านหิน โดยทั่วไปจะมี ไฮโดรเจน 50 %, มีเทน 32 % คาร์บอนมอนนอกไซด์ 8 %, ไนโตรเจน 6% และ เอธิลีน 4% โดยปริมาตร ก๊าซถ่านหินนี้เหมาะสำหรับใช้ในการเป่าแก้ว ตะกั่ว แก้วโซดา และแก้วบอโรซิลิเกต
ก๊าซไฮโดรเจน (hydrogen gas) เป็นก๊าซที่มีความไวไฟมาก ราคาแพงกว่าก๊าซถ่านหินมาก บรรจุในถังเหล็กทาด้วยสีแดงมีความดันภายในถัง 140 kg/cm2 หรือ (20 lb/in2, ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ก๊าซไฮโดรเจนเหมาะสำหรับเป่าแก้วซิลิเกต เพราะว่าให้ความร้อนสูงมาก ไม่เหมาะสำหรับเป่าแก้วโซดาเพราะว่าแก้วโซดาจะหลอมเร็วมาก บางครั้งอาจใช้กับแก้วบอโรซิลิเกตได้เหมือนกัน แต่การควบคุมเป็นไปได้ยาก ไม่ควรใช้ก๊าซเชื้อเพลิงจนหมดถัง ควรเหลือความดันไว้ประมาณ 25 lb/in2 ถ้าความดันน้อยกว่านี้อากาศและออกซิเจนในบรรยากาศอาจเข้าไปอยู่ในถัง ทำให้เกิดการผสมกับก๊าซที่เติมลงไปเกิดอัตราส่วนใหม่ ปริมาณความร้อนจะไม่เท่าเดิม
ก๊าซธรรมชาติ (natural gas) โดยองค์ประกอบหลักคือก๊าซมีเทน (CH4) และองค์ประกอบย่อยได้แก่ อีเทน โปรเพน และบิวเทน ราคาไม่แพง หาได้ง่าย
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (liquefied petroleum gas, LPG) หรือที่เรียกกันว่าก๊าซหุงต้ม ประกอบด้วยก๊าซโปรเพนและบิวเทน ที่ถูกอัดลงในถังให้มีความดัน 100-140 lb/in2 จะอยู่ในสถานะที่เป็นของเหลว ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเป่าแก้วได้ เมื่อปล่อยออกมาจากถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวนี้จะกลายเป็นไอ ลักษณะก๊าซ จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และกลิ่น ติดไฟได้ง่าย ในทางการค้าจึงต้องเติมสารที่มีกลิ่นเข้าไป เพื่อให้สังเกตได้เมื่อมีการรั่วไหลของก๊าซ
เมื่อนำก๊าซเชื้อเพลิงเหล่านี้ไปใช้กับตะเกียงเป่าแก้ว ต้องเลือกใช้ตะเกียงให้เหมาะสมกับก๊าซแต่ละชนิดเนื่องจากก๊าซแต่ละชนิดเมื่อผสมกับก๊าซที่ช่วยการสันดาป(oxidant gas) จะให้อุณหภูมิแตกต่างกัน อุณหภูมิสูงสุดของก๊าซเชื้อเพลิงและก๊าซสันดาป แสดงดังตารางด้านล่างนี้
ก๊าซเชื้อเพลิง |
ก๊าซสันดาป |
อุณหภูมิสูงสุด (องศาเซลเซียส) |
ไฮโดรเจน |
อากาศ |
2045 |
ไฮโดรเจน |
ออกซิเจน |
2600 |
ก๊าซถ่านหิน |
อากาศ |
1950 |
ก๊าซถ่านหิน |
ออกซิเจน |
2730 |
ก๊าซธรรมชาติ |
อากาศ |
1875 |
ก๊าซธรรมชาติ |
ออกซิเจน |
2930 |
ก๊าซปิโตรเลียม |
อากาศ |
1930 |
ก๊าซปิโตรเลียม |
ออกซิเจน |
2760 |
Popularity: 20% [?]
ตะเกียงเป่าแก้ว (glassblowers burner)
ตะเกียงเป่าแก้ว (glassblowers burner) มีมากมายหลากหลายชนิดตามบริษัทผู้ผลิตที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนหลักการจะคล้ายกัน คือผ่านก๊าซเชื้อเพลิง (ก๊าซบิวเทน ก๊าซหุงต้ม หรือ ก๊าซไฮโดรเจน เป็นต้น) และ ก๊าซออกซิเจน (o2) ซึ่งแยกกันคนละท่อ เข้าไปผสมกันที่หัวเตา (burner) เมื่อจุดไฟจะได้เปลวไฟที่มีความร้อนมากกว่า 1000 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับชนิดก๊าซเชื้อเพลิง และก๊าซที่ให้ออกซิเจน หากใช้ก๊าซบิวเทนผสมกับก๊าซออกซิเจนจะได้อุณหภูมิประมาณ 1800 องศาเซลเซียส
ขั้นตอนการจุดไฟต้องจุดในขณะที่ผ่านก๊าซบิวเทนปริมาณเล็กน้อยไปยังหัวเตาก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณก๊าซบิวเทนและก๊าซออกซิเจนไปพร้อมๆ กัน ตะเกียงเป่าแก้วชนิดนี้ ใช้เป่าแก้วประเภทแก้วบอโรซิลิเกต (borosilicate glass) หากใช้ก๊าซบิวเทนผสมกับอากาศ(ได้จากปั้มลมทั่วไป) ผสมกัน จะให้ความร้อนประมาณ 800 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่แล้วจะใช้สำหรับการเป่าแก้วอ่อน (soft glass)
นอกจากนั้นยังมีตะเกียงเป่าแก้วที่ใช้เป่าแก้วได้ทั้งแก้วบอโรซิเกต และแก้วอ่อน เพราะว่าสามารถปรับเปลี่ยนส่วนผสมของก๊าซ เพื่อให้มีอุณหภูมิอยู่ในช่วงที่จะเป่าแก้วอ่อน และเพิ่มอุณหภูมิเพื่อใช้เป่าแก้วบอโรซิลิเกตได้ โดยใช้ตะเกียงที่มีท่อ 3 ท่อ สำหรับก๊าซเชื้อเพลิง ก๊าซออกซิเจน และอากาศ โดยการเลือกใช้ตะเกียงจะขึ้นอยู่กับงานแต่ละชนิด ตะเกียงเป่าแก้วแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ แบบตั้งโต๊ะ และแบบมือถือ
Popularity: 21% [?]
การเป่าแก้ว (glassblowing)
การเป่าแก้ว (glassblowing) เป็นการนำแก้วมาดัดแปลงให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามความต้องการ การเป่าแก้วนั้นมีความสัมพันธ์ระหว่างงานทางวิชาการและศิลปะ ต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติให้มีความชำนาญจึงจะสามารถเป่าแก้วได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน โดยทั่วไปพิจารณาวัตถุประสงค์การเป่าแก้วได้ 2 อย่างคือ
- 1. การเป่าแก้วทางวิทยาศาสตร์ (scientific glassblowing) หมายถึงการสร้างหรือซ่อมอุปกรณ์เครื่องแก้ว ที่ใช้ในการทดลองทางด้านงานวิทยาศาสตร์ และการทำวิจัย
- 2. การเป่าแก้วทางศิลปะ (artistic glassblowing) หมายถึง การเป่าแก้วเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการประดับ ตกแต่ง เช่น เป่าเป็นดอกไม้ หรือรูปสัตว์ต่างๆ
หากแบ่งการเป่าแก้วตามลักษณะการทำแก้วให้เป็นรูปร่างตามต้องการจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ
ก. การเป่าแก้วโดยไม่ใช้ตะเกียงเป่าแก้ว เป็นวิธีการดั้งเดิม โดยนำแก้วหลอมมารวมกันไว้ที่ปลายท่อเหล็กที่ใช้เป่า (iron blow pipe) และเป่าให้เป็นรูปร่างตามความต้องการ ซึ่งการเป่าด้วยวิธีนี้ต้องใช้ช่างเป่าแก้วที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ และใช้ระยะเวลาในการเป่านาน
ข. การเป่าแก้วโดยใช้ตะเกียงเป่าแก้ว เป็นวิธีการที่ใช้ตะเกียงเป่าแก้วมาช่วยหลอมแก้ว ทำให้เป่าแก้วได้รวดเร็ว และสามารถเรียนรู้ฝึกฝนได้ง่าย
Popularity: 23% [?]