การไทเทรต (titration)
การไทเทรต (titration) เป็นการวิเคราะห์หาปริมาณของสารที่ไม่ทราบความเข้มข้น (unknown) ด้วยการวัดปริมาตรของสารละลาย ซึ่งปริมาตรของสารละลายจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณสาร โดยทำปฏิกิริยากับสารที่ทราบปริมาณหรือความเข้มข้นที่แน่นอน สารที่ไม่ทราบความเข้มข้นจะบรรจุในขวดรูปชมพู่เรียกว่าไทแทรนด์ (titrand) สมมุติให้เป็นสาร A ส่วนสารที่ทราบความเข้มข้นแล้วหรือเรียกว่าสารมาตรฐาน จะถูกบรรจุในบิวเรตต์ เรียกว่าไทแทรนต์ (titrant) สมมุติให้เป็นสาร B โดยมีวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และพบได้ทั่วไปในห้องปฏิบัติการ (ดังภาพ) ประกอบด้วย ขาตั้งเหล็ก (stand) ที่ยึดบิวเรตต์ (buret clamp) บิวเรตต์ (burette) ขวดรูปชมพู่ (erlenmeyer flask) และกระเบื้องสีขาว (tile)
วิธีการไทเทรตทำได้โดยค่อยๆ ปล่อยสารละลายจากบิวเรตต์ (สาร B) ลงในขวดรูปชมพู่ สารทั้งสอง จะเริ่มทำปฏิกิริยากันจนกระทั่งถึงจุดสมมูล (equivalent point) คือจุดที่สารทำปฏิกิริยากันพอดี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดเพื่อบอกจุดสมมูล หรืออาจใช้สารบ่งชี้ (indicator) ที่สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อถึงจุดสมมูล จากนั้นบันทึกปริมาตรของสาร B
สามารถคำนวณหาความเข้มข้นของ สาร A ได้โดยใช้ความสัมพันธ์
จำนวนโมลของสาร A = จำนวนโมลของสาร B
Ca X Va = Cb X Vb
เมื่อ Ca = ความเข้มข้นของสาร A (unkonwn or analyst)
Cb = ความเข้มข้นของสาร B (สารมาตรฐาน)
Vb= ปริมาตรของสาร B ได้จากการไทเทรต อ่านค่าจากบิวเรตต์เมื่อถึงจุดสมมูล
Va = ปริมาตรของสาร A ทราบได้เพราะว่าเราปิเปตต์สาร unknown ด้วยปริมาตรที่แน่นนอนใส่ลงในขวดรูปชมพู่
ทำให้คำนวณหาค่า ความเข้มข้นของสาร A (Ca) ได้ เพราะว่าทราบค่าต่างๆ ทุกค่าแล้ว
Popularity: 19% [?]