โถดูดความชื้น (desiccator)

desiccator1 โถดูดความชื้น (desiccator) เดซิกเคเตอร์ใช้สำหรับดูดความชื้นออกจากสารเคมีต่างๆ ใ้ห้เหลือเฉพาะสารเคมี ไม่มีความชื้นหรือน้ำอยู่ในโมเลกุลของสาร โดยโถดูดความชื้นจะต้องใส่สารที่ใช้ดูดความชื้นลงไปด้วย(ด้านล่างโถ) สารที่ใช้ดูดความชื้นโดยมากแล้วจะใช้ซิลิกาเจล (silica gel) หรือสารจำพวกสารกรองโมเลกุล (molecular sieve) ซึ่งถ้าสารซิลิกาเจลดูดความชื้นไว้จนเต็ม สังเกตุได้จากสีของซิลิกาเจลจะเปลี่ยนจากสีฟ้า เป็นสีชมพู ในปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นตู้ดูดความชื้นโดยใช้ไฟฟ้า (desiccator cabinet)

desiccator_openวิธีการใช้เดซิกเคเตอร์

จะต้องทาวาสลีนที่ฝา ส่วนที่สัมผัสกับตัวของเดซิกเคเตอร์ เพื่อให้เปิดปิดได้ง่าย การเปิดทำได้โดยเลื่อนฝาออกอย่างช้าๆ หากดึงฝาขึ้นจะเปิดไม่ออก จากนั้นนำสารที่ต้องการดูดความชื้นวางลงบนแผ่นกระเบื้องเคลือบ และเลื่อนฝาปิดกลับคืนที่เดิม หากไม่สามารถเลื่อนเพื่อเปิดเดซิกเคเตอร์ได้ อาจเนื่องมาจากความดันภายใน และภายนอกมีความแตกต่างกันมากจะต้อง เปิดจุกด้านบนเพื่อทำให้ความดันภายในและภายนอกเท่ากันเสียก่อนจึงจะสามารถเปิดได้ ทั้งนี้จะต้องทำด้วยความรวดเร็วเพื่อป้องกันความชื้นจากภายนอกเข้าไปภายในเดซิกเคเตอร์

 

 

desiccator_add_silicagelหลังจากใช้งานไประยะหนึ่งจนกระทั่งสารดูดความชื้นอิ่มตัวด้วยน้ำแล้ว สังเกตได้จากการเปลี่ยนสีของสารดูดความชื้น จะต้องนำไปอบไล่ความชื้นออกที่อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส  ทำได้โดยการเปิดฝาและนำสารเคมีต่างๆ ออกให้หมด จากนั้นนำแผ่นกระเบื้องเคลือบ และสารดูดความชื้นออกมา นำไปอบจนกระทั่งสีของสารดูดความชื้นเปลี่ยนแปลงจากสีชมพูเป็นสีน้ำเงิน จากนั้นนำมาเทใส่เดซิกเคเตอร์โดยใช้กระดาษช่วยในการเท ดังภาพประกอบ และวางแผ่นกระเบื้องเคลือบลงไปวางสารเคมีที่ต้องการดูดความชื้น และปิดฝาให้เรียบร้อย

ข้อควรระวัง

เนื่องจากเดซิกเคเตอร์ทำด้วยวัสดุเป็นแก้ว และกระเบื้องเคลือบ ทำให้แตกได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีน้ำหนักมากอีกด้วย จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และซิลิกาเจลมีลักษณะเป็นเม็ดกลมมีสีชมพูและสีน้ำเงินเด็กๆ อาจนึกว่าเป็นของที่รับประทานได้ แต่ไม่สามารถรับประทานได้เนื่องจากมีการเติมสารที่ทำให้เกิดสีลงไปโดยเป็นสารเคมีที่ประกอบด้วยโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ส่วนประมาณราคาของเดซิกเคเตอร์ ขึ้นอยู่กับขนาด โดยทั่วไปอยู่ในระดับหลักหมื่นบาท

Popularity: 41% [?]

8 Responses to “โถดูดความชื้น (desiccator)”

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Search
glassware chemical